เมืองไทย 360 องศา
หากจะบอกว่าเวลานี้เป็นช่วงที่ได้เวลาสำหรับการเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งพวกเขารอจังหวะแบบนี้มานานแล้ว แม้ว่าจะอ้างว่าเพื่อ “ประชาธิปไตย” เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขัดขวางการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ อะไรก็แล้วแต่ ตามที่จะสรรหาคำพูดออกมาให้ดูสวยหรู แต่เชื่อหรือไม่หาก พิจารณากันให้ละเอียดก็จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคการเมือง ล้วนหวังผลที่จะทำให้ตัวเองได้ประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือจากรัฐธรรมนูญใหม่ หากแก้ไข หรือยกร่างใหม่ได้สำเร็จ
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากแนวโน้มในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถือว่ามีความเป็นไปได้ที่จะทำได้สำเร็จ นั่นคือ แทบทุกพรรคทั้งที่ได้ยื่นญัตติด่วนแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มจากการแก้ไข มาตรา 256 เพื่อเปิดประตูไปสู่การมี สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อนำไปสู่การยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เท่าที่เห็นในเวลานี้ก็มี พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านเกือบทุกพรรคที่ยื่นญัตติด่วนดังกล่าวเข้าสภาไปแล้ว
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล จากการเปิดเผยของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ที่สรุปออกมาแล้วว่า จะมีการเสนอญัตติด่วนแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามพรรคร่วมรัฐบาลเพียงฉบับเดียว โดยเป้าหมายก็คือ มีการแก้ไข มาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร.เช่นเดียวกัน
ส่วนที่มีความเห็นแยกออกไป ก็คือ พรรคก้าวไกล ที่มองเห็นก็คือ การ “แสดงบทสองหน้า” ที่ชัดเจนกว่าใคร ก็คือ บทบาทที่มองว่าเป็นการ “โหนม็อบ” หวังจะกินทั้งสองทาง นั่นคือ หวังจะใช้ “ม็อบปลดแอก” เป็นฐานทางการเมืองทั้งในปัจจุบันและในอนาคต หากจะบอกว่าการเคลื่อนไหวของบรรดาเด็กเยาวชนในเวลานี้ เป็นแบบ “คู่ขนาน” เกื้อหนุนกันก็คงไม่ผิดนัก
เพราะเมื่อพิจารณาจากท่าทีที่เล่นบทเสี่ยง ยอมหักกับพรรคร่วมฝ่ายค้านโดยเฉพาะกับพรรคเพื่อไทย ที่ถอนชื่อไม่ร่วมเสนอญัตติด่วนแก้ไข มาตรา 256 ที่เริ่มด้วยการตั้ง ส.ส.ร. โดยพรรคก้าวไกลประกาศ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ด้วยการให้แก้ไข มาตรา 269-272 ที่เกี่ยวกับการยกเลิก ส.ว.ทิ้งไป โดยความเคลื่อนไหวที่มาจากแกนนำของอดีตพรรคอนาคตใหม่ อย่าง “นายปิยบุตร แสงกนกกุล” ที่แสดงท่าทีให้เห็นชัดเจนว่า จะใช้ “ม็อบกดดันสภา” โดยระบุว่า สาเหตุที่ทำให้มีการเคลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้ และทำให้ ส.ว.ต้องยอมถอย ก็เป็นเพราะมาจากการกดดันของม็อบนอกสภาในเวลานี้
ขณะเดียวกัน ยังมีท่าทีจากพรรคก้าวไกลอีกว่า หากการลงชื่อในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคในกรณีดังกล่าวไม่ได้รับการลงชื่อสนับสนุนจาก ส.ส.พรรคอื่นให้ครบ 98 เสียง ก็จะใช้วิธีล่าชื่อประชาชนให้ครบ 5 หมื่นชื่อ ในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาในภายหลัง
แต่สิ่งที่ต้องพิจารณากันในความเป็นจริง ก็คือ การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญตามขั้นตอนแล้ว ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องพึ่งพาเสียงของ ส.ว.มาร่วมโหวตด้วยอย่างน้อย 84 เสียงด้วย ดังนั้น หากมองตามความเป็นไปได้แล้ว มองว่า วิธีการของพรรคก้าวไกลที่ “หัก” แบบนี้ยากที่จะสำเร็จ นอกเสียงจากนี่คือ “เกม” ที่มี “เจตนาป่วน” เพื่อหวังกินสองหน้า คือ ทางหนึ่งรู้อยู่แล้วว่าไม่มีทางสำเร็จ แต่ก็ต้องการได้ใจพวกเด็กๆ ที่กำลังม็อบนอกสภา หรือหวังฟลุ๊กให้ปั่นป่วนจนเกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นแนวทางที่กำลังถูกจับตามอง
และถึงอย่างไรพวกเขาก็ยังสงวนสิทธิ์เอาไว้ในการอภิปรายในญัตติแก้ไขของพรรคการเมืองอื่นในสภาอยู่ดี เรียกว่ามองข้ามถึงความสำเร็จของตัวเองในการแก้ไข แต่ขอ “หล่อ” เอาไว้ก่อน เหมือนกับที่แกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนที่ออกมาตำหนิอย่างรุนแรงก่อนหน้านี้ ทำนอง “เอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้เพื่อน” หรือ “ยืนหล่อ” อยู่คนเดียว อะไรประมาณนั้น
แต่เอาเป็นว่างานนี้สำหรับพรรคก้าวไกลได้ตุนมวลชนที่เป็นกลุ่มม็อบปลดแอกเอาไว้ในมือแล้ว เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับการเลือกตั้งในทุกระดับที่กำลังจะมาถึง ไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะสำเร็จหรือออกมาในแนวไหนก็ตาม
ส่วนพรรคเพื่อไทย หากโฟกัสให้ดีจะเห็นว่าพวกเขามีความ “ตั้งใจ” สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเป้าหมายหลัก คือ การแก้ไขให้กลับมาใช้ “บัตรเลือกตั้งสองใบ”แยกคะแนนเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต กับบัญชีรายชื่อ เพราะเชื่อว่าพวกเขาได้เปรียบหากใช้วิธีนี้ ดังนั้น จึงใช้โอกาสที่ทุกฝ่ายยอมให้มีการแก้ไขมาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร. โดยยืนยันไม่แตะต้องในหมวดที่ 1 และ 2 ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และ ส.ว.ที่ยอมถอย
ขณะที่พรรคการเมืองอื่นถือว่า “ตามน้ำ” แม้ว่าจะโน้มเอียงไปทางการให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ ตามแบบที่เคยใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ตาม แต่ที่น่าจับตาก็คือบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีท่าที “ล้ำหน้า” ก็ถือว่าน่าวิเคราะห์อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะบทบาทในซีกของฝ่ายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ที่พยายามย้ำเคลื่อนไหวในบทบาท “ต่อต้านเผด็จการ” และพุ่งเป้าไปที่การลดอำนาจของ ส.ว. ในเรื่องการโหวตเลือกนายกฯ ตามบทเฉพาะกาล แต่ในที่สุดแล้ว เมื่อทางวิปรัฐบาลได้ข้อสรุปให้มีการรวมเสนอร่างญัตติแก้ไขของพรรคร่วมเพียงฉบับเดียวให้แก้ไข มาตรา 256 เพื่อมี ส.ส.ร. ก็ถือว่าจบไป อย่างมากก็ไปอภิปราย “ทำหล่อ” ในสภาเท่านั้น
ดังนั้น เมื่อพิจารณามาถึงตรงนี้จะเห็นว่าการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้ จะว่าไปแล้วสิ่งที่มองเห็นชัดและมาก่อน ก็คือ ทุกพรรคต่างก็ถือเอา “ประโยชน์” ของตัวเอง เพื่อให้พรรคตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุด และงานนี้หากสำเร็จตามแนวทางที่ว่านี้ พรรคที่คาดว่าจะได้ประโยชน์มากที่สุด ก็คือ พรรคเพื่อไทย แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า เมื่อถึงการเลือกตั้งจะสามารถรักษามวลชนเดิมเอาไว้ได้แค่ไหน ขณะที่พรรคก้าวไกลที่เล่นบท “สองหน้าเอาหล่อ” แต่ก็ยึดกุมม็อบเด็กเอาไว้ในมือแล้ว ส่วนพรรคอื่น ถือว่าตามน้ำ มีเพียงประชาธิปัตย์เท่านั้น ที่แม้ว่าจะพยายามเล่นบทพระเอกแค่ไหนก็ตาม แต่ปัญหาก็คือ “คนดู” จะหันกลับมาสนใจหรือเปล่า !!
August 28, 2020 at 01:59AM
https://ift.tt/34EpJXS
แนวทางแก้รัฐธรรมนูญ ผลประโยชน์พรรคต้องมาก่อน !? - ผู้จัดการออนไลน์
https://ift.tt/36KG1NQ
Home To Blog
No comments:
Post a Comment