เมืองไทย 360 องศา
เวลานี้หากวัดกันตามกระแสจริงๆ ยังเชื่อว่า “ลุงตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยังยันสถานการณ์ได้อยู่ แต่ในระยะทางยาวมากกว่านี้ จะยัง “เอาอยู่”หรือไม่ ยังไม่อาจคาดเดาได้ ซึ่ง“ตัวแปร”สำคัญที่สุด ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าตัวเองนั่นแหละว่าจะเลือก“วิธีเดิน”แบบไหน
แต่เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มแล้วยังพอเห็นสัญญาณบวกในแบบ “ยืดหยุ่น”รู้จักลู่ตามลม ไม่ได้แข็งตึงแบบยอมหักไม่ยอมงอ สังเกตได้จากหลายครั้งที่เขาเกิดความผิดพลาด ทั้งคำพูดหรือการกระทำบางอย่างในอดีต ก็ “รีบขอโทษ” หลายครั้งทั้งในและนอกสภา ซึ่งที่ผ่านมาหากมองย้อนอดีตพวกนักการเมืองที่อ้างว่าตัวเองเป็นนักประชาธิปไตยทั้งหลายทั้งปวงนั่น น้อยครั้งที่จะเอ่ยคำขอโทษ พยายามเลี่ยงคำพูดไปมา หรือบางคนถึงขั้นใช้คำว่า“ขออภัย”หรือเสียใจ แต่ไม่ยอมพูดคำว่าขอโทษ
สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองที่ดูเหมือน“ถูกจงใจ” จากบางกลุ่ม บางฝ่ายทำให้ร้อนแรงเพิ่มมากขึ้นในเวลานี้ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของบางกลุ่ม เช่น กลุ่ม“ประชาชนปลดแอก”ที่เปลี่ยนชื่อมาจาก กลุ่ม “เยาวชนปลดแอก”หากสังเกตให้ดีก็เป็นการผสมกันระหว่างกลุ่มนักศึกษา เยาวชน ที่เคยเคลื่อนไหวในทางเดียวกับ อดีตพรรคอนาคตใหม่ และแกนนำของพรรคดังกล่าว เช่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นต้น และมีกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย เป็นแนวร่วม
แม้ว่าจะมีรายละเอียดข้างในที่ยิบย่อยออกมาอีก เช่น ทั้งสองพรรคดังกล่าวก็มีความพยายามเคลื่อนไหวในลักษณะแย่งชิงมวลชน รวมไปถึงในกลุ่มพวกนักศึกษาบางกลุ่ม ที่พยายามแทรกเข้าไปต่อต้านสถาบันฯ โดยกลุ่มหลังนี้หลายคนก็มองว่าเป็น “สาวก”หรือพวกที่ชื่นชมยกย่อง นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ นักวิชาการที่หลบหนีคดีอาญา มาตรา 112 ในต่างประเทศเวลานี้
แน่นอนว่าการเคลื่อนไหวจะเป็นการปลุกเร้าในหมู่เยาวชน ที่ถือว่าได้ผลไม่น้อยในแง่ที่ว่า มีการใช้สื่อโซเชียลฯควบคู่กันไปด้วย ทั้งการปล่อยข่าว การปลุกระดม การให้ข้อมูลที่เท็จบ้าง จริงบ้าง แต่เป้าหมายเพื่อมุ่งเป้าโจมตีฝ่ายรัฐ รัฐบาล โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก และรองลงมาเป็น“ลุงป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงโจมตีฝ่ายความมั่นคง และกองทัพ จนกระทั่งมีการ“สอดแทรก”เข้ามาโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากกระแสสังคม หรือความต้องการของสังคมที่ในตอนแรกจะเป็นไปในลักษณะที่เริ่ม“หวั่นไหว” วิตกไปกับสถานการณ์ที่มีความพยายามปลุกเร้าขึ้นมาอย่างดุเดือดของพวกเยาวชน ที่ไม่น้อยถูกปั่นออกมาตามกระแสโซเชียลฯ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเลยเถิด ถูกชักนำไปที่การมุ่งโจมตีสถาบันฯ จนทำให้เกิดอาการชะงัก “กระแสตีกลับ”โดยเฉพาะผลจากการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จนทำให้ต้องปรับโหมดกันใหม่
การชุมนุมวันที่ 16 สิงหาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จึงหันกลับมาเน้นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ แก้รัฐธรรมนูญ หยุดคุกคามประชาชน และ นายกฯยุบสภา หรือลาออก ซึ่งจะว่าไปแล้ว 3 ข้อหลักดังกล่าวนี้ หากพูดกันให้ตรงจุด ก็เหมือนกับ“ข้อเรียกร้องของพรรคการเมือง”นั่นเอง โดยเฉพาะพรรคที่ต้องสูญเสีย และได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
แน่นอนว่าพวกเขาเห็นว่าหากยังบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอีกนานเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเสียเปรียบ โอกาสที่จะกลับมาชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลแทบไม่มีเลย ขณะเดียวกันจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ แม้ว่าในหลายมาตรามีความก้าวหน้า โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองที่เข้มงวดในเรื่องการป้องกัน“นายทุน”หรือการครอบงำพรรค แต่ด้วยบางมาตรา บางหมวด ที่ “อ่อนไหว”ต่อการปลุกเร้าได้ง่าย เช่น เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสมาชิก หรือส.ว. จำนวน 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ในบทเฉพาะกาล 5 ปี ถูกเยาะเย้ยว่าเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ แม้ว่าในความเป็นจริงส.ว.ชุดนี้ ยังเหลือเวลาในการปฏิบัติหน้าที่อีกเพียงแค่สองปีเศษ ก็ต้องพ้นไป
และที่ผ่านมาในการโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้ใช้เสียงของส.ว.มาช่วยโหวตแต่อย่างใด แต่ใช้เสียงของส.ส.จากสภาผู้แทนฯ ล้วนๆ ก็เอาชนะ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคฝ่ายค้านในเวลานั้น แบบขาดลอย
อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสของ“เผด็จการ”ที่กำลังถูกเร้ากันอย่างเต็มที่ ก็ยังได้ผลและในเรื่องดังกล่าวก็ยังพุ่งเป้าไปที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ “ผู้นำเผด็จการ”และเคลื่อนไหว ให้มีการทำลายเครื่องมือของเผด็จการ ทั้งในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือร่างใหม่ ซึ่งเป้าหมายหลักก็ยังเป็นการยุบทิ้งส.ว. แล้วให้ยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันในภาพรวมๆ แล้วยังถือว่าสถานการณ์ยังอยู่ในความควบคุมได้อยู่ โดยเฉพาะยังอยู่ในกรอบของการเดินเครื่อง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ทุกพรรคกำลังเสนอขอแก้ไข และที่สำคัญ ยังได้รับไฟเขียวจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยให้เป็นเรื่องของสภาไปว่ากันมา รวมไปถึงแนโน้มที่รัฐบาลจะเสนอร่างแก้ไขเข้าสภา หลังจากที่มีข้อสรุป และข้อเสนอออกมาจากคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน ที่คาดว่าในราวปลายเดือนนี้ จะสรุปและ เสนอรัฐบาลและสภาไม่เกินต้นเดือนหน้า
โดยความหมายตรงกันในเวลานี้ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนจะเป็นแบบรายมาตรา ที่มองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย และมีปัญหา เพื่อความรวดเร็วและมีความเป็นไปได้มากกว่ากับการแก้ไข มาตรา 256 เพื่อเปิดประตูสู่การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มีเส้นทางยุ่งยาก และเสี่ยงเกิดวิกฤตระหว่างทางได้ตลอดเวลา ว่าจะร่างกันออกมาแบบไหน
แต่เอาเป็นว่า จากท่าทีที่เห็นในวันนี้ของ“ลุงตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เชื่อว่าจะต้องมีความยืดหยุ่น ที่สำคัญไม่ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถควบคุมกระแสไม่ให้บานปลายได้พอสมควร แต่หากให้โดดเด่นไปกว่านั้นก็ต้อง“ชิงนำ”ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจังในคราวเดียวกันพ่วงไปด้วย โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจกับอัยการ ที่มีภาพลักษณ์เป็นลบอยู่ในเวลานี้ หากจริงจังก็อาจจะพลิกกลับมาเป็นบวก ได้รับเสียงสนับสนุนได้อีกก็เป็นได้ !!
August 24, 2020 at 01:13AM
https://ift.tt/2YujYrT
ลุงตู่ต้องชิงปฏิรูป-แก้รธน. ก่อนถูกต้อนเข้ามุมอับ !? - ผู้จัดการออนไลน์
https://ift.tt/36KG1NQ
Home To Blog
No comments:
Post a Comment