มีเพื่อนส่งคลิปมาให้ดู ชาวบ้าน ต.ท่านางแนว อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเปี่ยมความหวัง หลังรวบรวมเงินคนละเล็กละน้อยจ้างรถแบ็กโฮมาขุดดินชักร่องน้ำจากแม่น้ำชีเข้าสู่หนองกุดเป่ง เนื้อที่ 80 ไร่ เก็บกักน้ำได้ประมาณ 400,000 ลบ.ม. เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งที่กำลังจะมาถึง เพราะหน้าแล้งที่ผ่านมาหนองน้ำแห่งนี้แห้งขอด ชาวบ้านทุกข์ยากลำบากแร้นแค้น
ชาวบ้านยังเตรียมชักร่องจากหนองกุดเป่งเพื่อกระจายน้ำเข้าสู่แหล่งน้ำใกล้เคียง ในรูปแบบ “สระพวง” ตามศาสตร์พระราชา ใช้งบน้อยนิดในเวลาอันสั้น และไม่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำชีแต่ประการใด เนื่องจากแม่น้ำชีมีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยต่อปี 14,105 ล้าน ลบ.ม. ดีกว่าปล่อยให้น้ำไหลลงแม่น้ำโขงไปเสียเปล่า
การชักร่องน้ำเข้าอ่างครั้งนี้ได้ประโยชน์หลายอย่าง ช่วยเพิ่มความจุของแหล่งน้ำธรรมชาติ รักษาสภาพแวดล้อมพลิกฟื้นสรรพสิ่งในแหล่งน้ำคือกุ้ง หอย ปู ปลา ได้หลายล้านชีวิต ช่วยยืดระยะเวลาทำกินจาก 4 เดือนต่อปีเป็นการทำเกษตรได้ตลอดปี และน้ำในแหล่งน้ำบนดินยังช่วยหนุนให้ระดับน้ำใต้ดินเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
การที่ชาวบ้านท้องถิ่นดิ้นรนพึ่งพาตนเองถือเป็นเรื่องดี แต่จะดีกว่านี้ถ้ารัฐบาล ตื่นตัวบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ เตรียมพร้อมรับมือภัยแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี
แต่ละปีรัฐบาลใช้งบประมาณเกี่ยวกับเรื่องน้ำไปนับแสนล้านบาท หมดไปกับเขื่อน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง แต่กลับละเลยอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ทั้งที่ใช้งบประมาณน้อยกว่า ทำได้เร็วกว่า ดูแลรักษาง่ายกว่า และกระจายสู่เกษตรกรได้ทั่วถึงกว่า
ประเทศไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม มีพื้นที่การเกษตรประมาณ 130 ล้านไร่ แต่เป็นพื้นที่ชลประทานเพียงแค่ 30 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วนแค่ 23% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ขณะที่พื้นที่การเกษตรอีก 77% ไม่มีระบบชลประทาน ขาดแคลนน้ำ ทำนาได้เฉพาะหน้าฝน จึงเกิดการว่างงานในฤดูแล้ง ยิ่งมาเจอวิกฤติโควิด คนตกงานอยู่ในเมืองใหญ่ไม่ได้ก็กลับบ้านชนบท อยู่ชนบทก็ต้องทำการเกษตร แต่พอไม่มีน้ำก็อยู่ไม่รอด
คุณอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เผยว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้สรุปรายงานเสนอแนะรัฐบาลให้เร่งจัดทำแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพราะใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ประเทศไทยไม่ได้ขาดน้ำ แต่เก็บน้ำได้แค่ 10% อีก 90% ปล่อยทิ้งลงทะเลหมด ประกอบกับปัจจุบันสภาวะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ฝนไม่ค่อยตกเหนือเขื่อน การสร้างอ่างน้ำขนาดเล็กจึงช่วยให้กักเก็บไว้ใช้ได้ และยังกระจายสู่เกษตรกรอย่างทั่วถึง
ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำมีถึง 28 หน่วยงาน ถ้าไม่บูรณาการก็คงไปกันคนละทิศคนละทาง ตอนนี้ คุณสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ กำลังเดินสายพูดคุยให้ทุกหน่วยงานเห็นด้วยกับแนวทางของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งดูแนวโน้มแล้วไม่น่ามีปัญหา เพราะ นายกฯบิ๊กตู่ เคยเปรยหลายครั้ง อยากให้ทำแหล่งน้ำขนาดเล็กเยอะๆเหมือนแบบขนมครก
ในรายงานของคณะกรรมาธิการฯยังระบุข้อมูลที่น่าตกใจอีก อย่างว่า อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กทั่วประเทศมี 1.5 แสนแห่ง แต่มีครึ่งหนึ่งที่ชำรุด ตื้นเขิน ใช้การไม่ได้ เพราะที่ผ่านมามีแต่งบสร้าง ไม่มีงบซ่อม ฉะนั้นอันดับแรกที่ต้องเร่งจัดการคือซ่อมอ่างเก็บน้ำทั้งหมด รวมถึงฝายต่างๆที่ชำรุดทรุดโทรมด้วย
ถ้ารัฐบาลเอาจริงตั้งแต่ตอนนี้ ถึงหน้าแล้งเกษตรกรชาวบ้านก็มีโอกาสรอดครับ.
ลมกรด
อ่านเพิ่มเติม...
September 30, 2020 at 05:01AM
https://ift.tt/2Sh4weV
ซ่อมสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก กักน้ำไว้ก่อนภัยแล้งมาถึง - ไทยรัฐ
https://ift.tt/36KG1NQ
Home To Blog
No comments:
Post a Comment